อีกไม่นานจะได้เห็นการแข่งขัน “อี-สปอร์ต” (E-Sport) ที่ไม่ใช่การแข่งขันเกมแบบทัวร์นาเมนต์ทั่วไป แต่เป็นการแข่งขันในรูปแบบ “กีฬา” อย่างเป็นทางการใน “ซีเกมส์” (SEA GAMES 2019) เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่แห่งวงการกีฬา ที่ฉีกแปลกแหวกแนวการแข่งขันกีฬาทั่วไปแบบที่คนไทยคุ้นชิน … พร้อมหรือยังที่จะเชียร์ไปด้วยกัน?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับคนไทยแล้ว “อี-สปอร์ต” ก็ไม่ต่างจากการเล่นเกมทั่วไป และ “เกม” ในภาพจำคนไทยก็มีแต่ด้านลบ เมื่อในวันนี้ “อี-สปอร์ต” กำลังก้าวมาเป็นเกมการแข่งขันในรูปแบบ “กีฬา” ก็คงหนีไม่พ้นการคัดค้าน และมองว่า “อี-สปอร์ต” ไม่ใช่กีฬา เพราะไม่มีการออกกำลังแขนขาในการแข่งขัน และไม่ได้ช่วยให้ผู้เล่นมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
อีกประการ คือ การตั้งข้อกังวลว่า “อี-สปอร์ต” จะทำให้เด็กไทยติดเกมกันมากขึ้น
ประเทศไทยพร้อมหรือยังกับ “อี-สปอร์ต”
ฝ่ายเห็นด้วย มองว่า อี-สปอร์ต เป็นกีฬา ใช้ทักษะ มีการวางกลยุทธ์ มีโอกาสในการพัฒนาเป็นตัวแทนประเทศไทยสร้างชื่อเสียง
ฝ่ายไม่เห็นด้วย มองว่า อี-สปอร์ต ไม่ถือเป็นกีฬา เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องติดเกม เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
“อี-สปอร์ต ไม่ต่างจากกีฬาทั่วไป”
นี่คือ มุมมองของสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยที่ยืนยันว่า นักกีฬา อี-สปอร์ต มีการฝึกฝนอย่างเคร่งครัดเหมือนนักกีฬาอื่นๆ และมีการฝึกซ้อมร่างกายเฉกเช่นเดียวกัน ขณะที่การแข่ง???ันแบบทัวร์นาเมนต์ก็คล้ายกับการแข่งขันแบบลีกส์ของกีฬาอาชีพอื่นๆ แม้ในตอนนี้ยังมีข้อเป็นห่วงว่า “อี-สปอร์ต” จะทำให้เด็กติดเกมและเสียอนาคต แต่มั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อนั้นได้ เพราะการเล่นเกมไม่ทำร้ายใคร และสามารถเป็นประโยชน์กับตัวผู้เล่นได้ หากมีการฝึกฝนและตั้งใจ รวมถึงในอนาคตอุตสาหกรรม “อี-สปอร์ต” จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
ด้าน มุมมองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เห็นว่า อี-สปอร์ต ตรงกับเกณฑ์ของการกีฬาทั้งหมด ติดเพียงแค่ผลกระทบที่ตามมาเท่านั้น ซึ่งได้มีการหาข้อมูล แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างแน่ชัดว่า ถ้า อี-สปอร์ต เป็นกีฬา เด็กจะติดเกมมากขึ้นไหม ซึ่งฝั่งสนับสนุนบอกว่า อี-สปอร์ต ต่างจากเด็กติดเกม อี-สปอร์ต เป็นนักกีฬา
ดังนั้น จึงมีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักกีฬา ที่มีการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง มีการวางแผนเล่นเป็นระบบ 2.กลุ่มที่เล่นเกมเพื่อการผ่อนคลาย 3.กลุ่มเล่นจนติด คำถาม คือ แม้ไม่ประกาศว่า อี-สปอร์ต เป็นกีฬา กลุ่มเด็กติดเกมยังติดเกมอยู่ไหม กลุ่มกีฬายังเล่นอยู่ไหม สรุป การประกาศหรือไม่ประกาศ ทุกคนยังเล่นอยู่ เรื่องปัญหาเด็กติดเกมต้องแก้ไข แต่การเอาปัญหามาปิดกั้นกลุ่มที่ไปต่อได้ มีโอกาสพัฒนาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรม จะตอบคำถามอย่างไร ดังนั้น ต้องแยกเป็นส่วนๆ
“เกมติดง่ายกว่าสารเสพติด”
แต่ในมุมมองของ พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะไปสนับสนุน อี-สปอร์ต ในเด็ก โดยเฉพาะการที่มีโรดโชว์เข้าไปในโรงเรียนต่างๆ แต่ถ้าเด็กๆ ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วก็สามารถเล่นได้ เพราะมีวุฒิภาวะพอสมควร ฉะนั้น ถ้าสนับสนุน ขอให้สนับสนุนในเด็กที่อยู่ในช่วงชั้นมหาวิทยาลัย อย่าสนับสนุนในช่วงชั้นที่อยู่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยลงมา แล้วต้องมีการค้านบริษัทหรือธุรกิจต่างๆ ที่เข้าไปโรดโชว์ด้วย
“สำหรับ “อี-สปอร์ต” นั้น ประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับรองให้เป็นกีฬาที่ถูกต้อง ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมรับ แม้แต่คณะกรรมการโอลิมปิกยังบอกว่า “อี-สปอร์ต” ไม่ได้เป็นสปอร์ต (กีฬา) จริงๆ เพียงแต่มีการใช้คำว่า E-Sport (อี-สปอร์ต) คือ E (อี) ย่อมาจาก Electronic (อิเล็กทรอนิกส์) แล้วต่อด้วย Sport (สปอร์ต) แปลตรงตัวว่า “กีฬาอิเล็กทรอนิกส์” แล้วการมี “อี-สปอร์ต” ทำให้หลายๆ คนอยากเป็นยูทูบเบอร์ (YouTuber) เป็นเพลย์เยอร์ (Player) ที่มีชื่อเสียง บางคนแลกกับการที่จะต้องทิ้งการเรียน แต่จะเห็นว่า “นักกีฬา อี-สปอร์ต” จริงๆ หรือแม้กระทั่งนักกีฬาอื่นๆ ของประเทศไทย สามารถเรียนหนังสือ มีวินัยการเล่น ฉะนั้น อยากจะบอกว่า ถ้าประเทศไทยมีการใช้ “อี-สปอร์ต” เป็นกีฬา ต้องสอนให้เด็กมีวินัยเหมือนนักกีฬาอื่นด้วย แล้วต้องไม่ให้เด็กๆ ทิ้งการเรียน สามารถเล่นหรือดูพี่ๆ ได้อย่างมีความสุขด้วย”
ทำไมถึงห่วงว่า “อี-สปอร์ต” จะทำ “เด็กติดเกม” มากขึ้น?
“เกมเป็นสารเสพติดสำหรับเด็ก”
จากผลการสำรวจล่าสุดในประเทศไทย พบว่า มีเด็กที่ติดเกมถึงขั้นเป็น “โรคติดเกม” ถึง 10% หรือพูดง่ายๆ ว่า ใน 10 คน จะมีเด็ก 1 คนที่เป็นโรคติดเกม และในนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า โ???คติดเกม เป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่งและนับเป็นโรคทางจิตเวชด้วย หากเทียบในภูมิภาคเอเชีย ต้องบอกว่า ประเทศไทยอยู่อันดับต้นๆ 1 ใน 5 ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอัตราการติดเกมอยู่ไม่ถึง 5% เท่านั้น
พญ.มธุรดา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เกมในเด็กและเยาวชนมีผลเกี่ยวกับเรื่องสมอง โดยเฉพาะเด็กที่เล่นเกมก่อน 18 ปี ยิ่งเล่นเกมอายุน้อยเท่าไหร่ก็จะเจอว่าเด็กๆ จะติดเกมมากขึ้น มีการถูกจับกุมมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในส่วนนี้มีผลจากการติดเกมเข้ามาด้วย
ขณะที่ กรมสุขภาพจิต ให้มุมมองว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากยังไม่มีระบบการควบคุม อีกทั้งลิขสิทธิ์ต่างๆ ยังเป็นของเอกชน และจากผลวิจัยของสหรัฐฯ พบว่า มีผู้เล่น 1 ในล้านเท่านั้น ที่จะมีรายได้ แต่ 8 หมื่นคนต้องกลายเป็นคนติดเกม โดยจากข้อมูลสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น พบว่า ในช่วง 6 เดือน หลังประกาศสนับสนุน “อี-สปอร์ต” และตั้งสมาคมฯ ขึ้นมา มีเด็กเข้ารับการบำบัดภาวะติดเกมแล้วถึง 60 คน
“อี-สปอร์ต” มีโอกาสถูกครอบงำจากธุรกิจสูง
แม้ขณะนี้ อี-สปอร์ต จะยังไม่ตกผลึกทางความคิดหรือการยอมรับจากสังคมอย่างเต็มตัวว่าเป็น “กีฬา” แต่ในแง่อุตสาหกรรมธุรกิจแล้วนั้น มีการเติบโตที่เรียกได้ว่าก้าวกระโดดมหาศาล ซึ่งจากผลการศึกษาของบริษัทสำรวจตลาดเกม NewZoo เผยให้เห็นว่า ตลาด “อี-สปอร์ต” ทั่วโลก มีแววว่าจะเติบโตทะลุ 1.1 พันล้านดอลลาร์ฯ ภายในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 26.7% คาดว่าในปี 2565 อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือหาก อี-สปอร์ต ยังมีทิศทางที่เติบโตดีอย่างนี้เรื่อยๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะสูงถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ทีเดียว
ขณะที่ ยอมผู้ชมการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ทั่วโลก ก็มีมากถึง 454 ล้าน ???พิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 15% และคาดว่าในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 645 ล้าน ซึ่งในจำนวนยอดผู้ชม “อี-สปอร์ต” กว่า 57% มาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
จากจำนวนผู้ชมที่มหาศาลนี้เอง ทำให้รายได้หลักของตลาด “อี-สปอร์ต” จึงมาจาก “สปอนเซอร์” ราวๆ 457 ล้านดอลลาร์ฯ แบรนด์ดังต่างๆ กระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ เพราะหวังใช้เป็นเวทีโปรโมทแบรนด์ของตัวเอง ทั้ง Intel, Benq, Coca-Cola หรือแม้แต่ American Express
นี่จึงเป็นข้อกังวลว่า “อี-สปอร์ต” อาจจะถูกครอบงำจากธุรกิจได้สูง เพราะมูลค่าตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับมีการสร้างฐานแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น จากแฟนขาประจำที่เข้ามารับชม 173 ล้านในปีที่แล้ว ปีนี้ยังไม่ถึงสิ้นปีมีเพิ่มมากขึ้นถึง 201 ล้าน และอาจมากถึง 297 ล้านในปี 2565 ด้วย
สุดท้าย แม้ยังมีความขมุกขมัวในการหาคำนิยามให้ “อี-สปอร์ต” ก็ไม่ได้ทำให้ตลาดซบเซาลง เพราะต่อให้เป็น “กีฬา” หรือไม่เป็นกีฬา มูลค่าตลาดก็มีแต่จะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยเองเกมออนไลน์ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ดี และอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ.
Cr. thairath